2 ขั้นตอนเพื่อความมั่นใจ “กองทุนรวม Thai ESG” ช่วยสร้างอนาคตไทยยั่งยืน

27 ธันวาคม 2566
อ่าน 4 นาที



หลายท่านคงสงสัยว่า ทำไมต้องลงทุนใน “กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน” หรือ “กองทุนรวม Thai ESG”
ท่านทราบหรือไม่ว่า นอกเหนือจากการที่ผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ภาษีตั้งแต่ปีภาษี 2566* แล้ว เงินจาก
การลงทุนในกองทุนรวมดังกล่าวจะถูกจัดสรรไปยังกิจการที่ช่วยสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้แก่ประเทศไทยด้วย

ก.ล.ต. ขอชวนมาทำความรู้จักกับ “นโยบายการลงทุน” และ “การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน” ซึ่งเป็น
2 ขั้นตอนสำคัญที่ ก.ล.ต. กำหนด เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถลงทุนกับกองทุนรวม Thai ESG เพื่อความยั่งยืนของ
ประเทศ ได้อย่างมั่นใจ

“นโยบายการลงทุน” ขั้นตอนแรกของการสร้างความมั่นใจ

กองทุนรวม Thai ESG เป็นกองทุนรวมที่ภาครัฐให้การสนับสนุนมาตรการภาษี เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อ
ความยั่งยืนของประเทศไทย ควบคู่ไปกับการสร้างทางเลือกในการออมระยะยาวสำหรับประชาชน ทั้งนี้ เพื่อให้
สอดรับกับนโยบายของภาครัฐ ก.ล.ต. จึงได้กำหนดให้กองทุนรวม Thai ESG ต้องเน้นลงทุนในทรัพย์สินของผู้ออก
ที่เป็นภาครัฐหรือกิจการไทยที่มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) หรือเพื่อส่งเสริมความ
ยั่งยืน (Environment, Social, Governance : ESG) ของประเทศ โดยแบ่งประเภททรัพย์สินที่สามารถลงทุนได้
ออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 หุ้นที่เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หรือตลาดหลักทรัพย์
เอ็ม เอ ไอ (mai) ที่ได้รับการคัดเลือกจาก SET ว่ามีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม หรือความยั่งยืน ซึ่งเป็นไป
ตามผลการประเมินหุ้นยั่งยืน (SET ESG Ratings) โดยปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับการประเมิน SET ESG
Ratings ระดับ AAA จำนวน 34 บริษัท ระดับ AA จำนวน 70 บริษัท ระดับ A จำนวน 64 บริษัท และระดับ BBB
จำนวน 25 บริษัท รวมทั้งสิ้น 193 บริษัท

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อการลงทุนอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกที่มี
ความเชี่ยวชาญในด้าน ESG ซึ่งจะร่วมพิจารณาหลักเกณฑ์การคัดเลือกและผลการประเมิน SET ESG Ratings
เพื่อให้เกิดความโปร่งใสตลอดกระบวนการ นอกจากนี้ จะพิจารณาคัดรายชื่อบริษัทจดทะเบียนออกจาก SET ESG
Ratings กรณีบริษัทมีข่าวด้านลบเกี่ยวกับประเด็น ESG ที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญหรือมีการกล่าวโทษจาก
หน่วยงานราชการ ซึ่งส่งผลให้บริษัทไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติตามข้อใดข้อหนึ่ง

ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงมั่นใจได้ว่า กองทุนรวม Thai ESG จะลงทุนในบริษัทจดทะเบียนที่ผ่านการพิจารณาจาก
ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นอิสระแล้วว่า มีการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือมีความอย่างยั่งยืน

​กลุ่มที่ 2 หุ้นที่เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนใน SET หรือ mai ที่มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซ
เรือนกระจก (GHGs) แผนการจัดการ และการตั้งเป้าหมายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อย
GHGs ของประเทศไทย เพื่อให้ผู้ลงทุนมั่นใจว่า บริษัทจดทะเบียนที่กองทุนรวม Thai ESG ลงทุน จะมีส่วนช่วยลดการปล่อย GHGs ของประเทศไทย บริษัทจดทะเบียนที่มีการเปิดเผยข้อมูลการปล่อย GHGs และเป้าหมายการลด จะต้องจัดให้มีผู้ทวนสอบการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ โดยที่ผู้ทวนสอบอาจเป็นองค์กรที่ขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) หรือที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในระดับสากล เพื่อที่ผู้ทวนสอบจะได้ติดตามผลและคำนวณปริมาณ GHGs ที่บริษัทลดลงได้ ซึ่งทำให้การเปิดเผยข้อมูลการปล่อย GHGs มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น

กลุ่มที่ 3 ตราสารเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (green bond) ตราสารเพื่อความยั่งยืน (sustainability bond) หรือตราสารส่งเสริมความยั่งยืน (sustainability – linked bond) ผู้ออกตราสารที่เป็นบริษัทเอกชนไทยจะต้องกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินไปใช้สำหรับโครงการต่าง ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือความยั่งยืนของประเทศไทย เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โครงการปลูกและบำรุงรักษาป่าชายเลน เป็นต้น และตราสารดังกล่าวต้องผ่านการอนุญาตออกและเสนอขายจาก ก.ล.ต. เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ออกจะมีการเปิดเผยข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวกับด้านความยั่งยืน สอดคล้องตามมาตรฐานสากล

กลุ่มที่ 4 พันธบัตรหรือหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (green bond) พันธบัตรหรือหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน
(sustainability bond) หรือพันธบัตรหรือหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน (sustainability – linked bond)
ซึ่งออกโดยรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจไทยที่กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ย เช่นเดียวกับตราสารที่ออกโดยภาคเอกชน วัตถุประสงค์ในการนำเงินที่ได้จากออกพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำ จะต้องใช้ในโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือความยั่งยืนของประเทศไทย เช่น การลงทุนในโครงการขนส่งพลังงานสะอาดที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน การลงทุนพัฒนาพื้นที่และอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล เป็นต้น

กลุ่มที่ 5 โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (investment token) ที่ออกตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจ
สินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งจะต้องเป็นโทเคนดิจิทัลสำหรับโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (green-project token) หรือ
โทเคนดิจิทัลสำหรับโครงการที่เกี่ยวข้องด้านความยั่งยืน (sustainability-project token) หรือ โทเคนดิจิทัล
เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน (sustainability-linked token) ซึ่ง ก.ล.ต. จะกำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และ
ประกาศให้ทราบต่อไป

“การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน” ขั้นตอนที่สองเพื่อความโปร่งใส มั่นใจได้ว่าลงทุนแบบรักษ์โลก

ก.ล.ต. กำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่บริหารจัดการกองทุนรวม Thai ESG ต้องเปิดเผย
ข้อมูลด้านความยั่งยืนของกองทุนรวมตามหลักเกณฑ์ของ “กองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน” หรือ Sustainable and
Responsible Investing Fund (SRI Fund) เช่น วัตถุประสงค์ด้านความยั่งยืน นโยบายและกลยุทธ์การบริหาร
จัดการลงทุนอย่างยั่งยืน กระบวนการวิเคราะห์และคัดเลือกหลักทรัพย์ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน และสามารถเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างกองทุนรวม Thai ESG ที่มีนโยบายการลงทุนเดียวกันได้โดยสะดวก นอกจากนี้ บลจ. จะต้องรายงานผลการบริหารจัดการลงทุนอย่างยั่งยืนทุกรอบระยะเวลา 6 เดือน
และรอบระยะเวลาบัญชี ให้ผู้ลงทุนทราบด้วย ทำให้ผู้ลงทุนมั่นใจได้ว่า ผู้จัดการกองทุนจะมีการบริหารเงินลงทุน
อย่างยั่งยืนแบบโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้

ก.ล.ต. หวังว่าเมื่อผู้ลงทุนรู้จักและเข้าใจกองทุนรวม Thai ESG จะสามารถลงทุนระยะยาวผ่านกองทุนรวมดังกล่าวได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น และอย่างที่ทราบกันดีว่า ในปัจจุบันผู้ลงทุนทั่วโลกให้ความสำคัญกับ “การลงทุนเพื่อความยั่งยืน” มากขึ้น เนื่องจากปัจจัยความเสี่ยงด้าน ESG เป็นความเสี่ยงทางการเงิน (financial risk) ที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัท โดยหลายประเทศได้มีการกำหนดราคาการปล่อยคาร์บอนผ่านกลไกภาษี หรือข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งหากธุรกิจที่ไม่ปรับเปลี่ยน ก็จะมีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ บางประเทศได้ให้การสนับสนุนมาตรการภาษีแก่ผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวมที่เน้นลงทุนอย่างยั่งยืน เช่น มาเลเซีย เป็นต้น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่ภาคเอกชนในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

การที่ภาครัฐเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย จนนำไปสู่การพัฒนา
กองทุนรวม Thai ESG นี้แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญด้านความยั่งยืน โดยมาตรการดังกล่าวจะสร้าง
แรงจูงใจและกระตุ้นให้ภาคเอกชนในประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและ
ความยั่งยืนของประเทศ อย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อให้สามารถเป็นทรัพย์สินที่กองทุนรวม Thai ESG ลงทุนได้
อีกทั้งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในปี ค.ศ. 2030
และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2065 ต่อไป
                                       ______________________________

หมายเหตุ : * ผู้ลงทุนสามารถนำเงินลงทุนในกองทุนรวม Thai ESG มาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับปีภาษีที่มีการลงทุน รวมทั้งเงินหรือ
ผลประโยชน์ที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีถ้าการลงทุน
เป็นไปตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรประกาศกำหนด โดยผู้มีเงินได้ต้องถือหน่วยลงทุนดังกล่าวไม่น้อยกว่า 8 ปี
นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน​